วันเสาร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2557


.....ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติ อยู่ในกรุงพาราณสี        .
พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลคนปลูกผัก ถึงความเป็นผู้รู้เดียงสาแล้ว ได้นามว่า กุททาลบัณฑิต”.

          ท่านกุททาลบัณฑิต กระทำการฟื้นดินด้วยจอบ เพาะปลูกพืชพันธ์และผัก มีน้ำเต้า ฟักเขียวฟักเหลือง เป็นต้น เก็บผักเหล่านั้นขาย เลี้ยงชีพด้วยการเบียดกรอ. แท้จริง ท่านกุททาลบัณฑิตนอกจากจอบเล่มเดียวเท่านั้น ทรัพย์สมบัติอย่างอื่นไม่มีเลย.        

          ครั้นวันหนึ่ง ท่านดำริว่า จะมีประโยชน์อะไรด้วยการอยู่ครองเรือน เราจักบวช ดังนี้.
ครั้นวันหนึ่ง ท่านซ่อนจอบนั้นไว้ ในที่ซึ่งมิดชิด แล้วบวชเป็นฤาษี ครั้นหวลนึกถึงจอบเล่มนั้นแล้ว
ก็ไม่อาจตัดความโลภเสียได้ เลยต้องสึก เพราะอาศัยจอบกุดๆ เล่มนั้น.
          แม้ครั้งที่ ๒ แม้ครั้งที่ ๓ ก็เป็นอย่างนี้ เก็บจอบนั้นไว้ในที่มิดชิด บวชๆ สึกๆ รวมได้ถึง ๖ ครั้ง. 

          ในครั้งที่ ๗ ได้คิดว่า เราอาศัยจอบกุดๆ เล่มนี้ ต้องสึกบ่อยครั้ง คราวนี้ เราจักขว้างมันทิ้งเสียในแม่น้ำใหญ่ แล้วบวช ดังนี้แล้ว เดินไปสู่ฝั่งแม่น้ำ คิดว่า ถ้าเรายังเห็นที่ตกของมัน ก็จักต้องอยากงมมันขึ้นมาอีก แล้วจับจอบที่ด้าม ท่านมีกำลังดังช้างสาร สมบูรณ์ด้วยเรี่ยวแรง ควงจอบเหนือศรีษะ ๓ รอบ    

          หลับตาขว้างลงไปกลางแม่น้ำ แล้วบรรลือเสียงกึกก้อง ๓ ครั้งว่า เราชนะแล้ว เราชนะแล้ว”.

          ในขณะนั้น พระเจ้าพาราณสีทรงปราบปรามปัจจันตชนบท ราบคาบแล้ว เสด็จกลับ ทรงสนานพระเศียรในแม่น้ำนั้น     

          ประดับพระองค์ด้วยเครื่องอลังการครบเครื่อง เสด็จพระดำเนินโดยพระคชาธาร ทรงสดับเสียงของพระโพธิสัตว์นั้น         

          ทรงระแวงพระทัยว่า บุรุษผู้นี้กล่าวว่า เราชนะแล้ว ใครเล่าที่เขาชนะ จงเรียกเขามา แล้วมีพระดำรัสสั่งให้เรียกมาเฝ้า    
          แล้วมีพระดำรัสถามว่า ดูก่อนบุรุษผู้เจริญ เรากำลังชนะสงคราม กำความมีชัย มาเดี๋ยวนี้ ส่วนท่านเล่าชนะอะไร?         

          พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช ถึงพระองค์จะทรงชนะสงคราม ตั้งร้อยครั้งตั้งพันครั้ง แม้ตั้งแสนครั้ง 
          ก็ยังชื่อว่า ชนะไม่เด็ดขาด อยู่นั่นเอง เพราะยังเอาชนะกิเลสทั้งหลายไม่ได้ แต่ข้าพระองค์ ข่มกิเลสในภายในไว้ได้ เอาชนะกิเลสทั้งหลายได้.       

          กราบทูลไป มองดูแม่น้ำไป ยังฌานมีอาโปกสิณเป็นอารมณ์ ให้เกิดขึ้นแล้ว
นั่งในอากาศด้วยอำนาจของฌานและสมาบัติ. 


          เมื่อจะแสดงธรรมถวายพระราชา จึงกล่าวคาถานี้ ความว่า :-
          “ ความชนะที่บุคคลชนะแล้ว กลับแพ้ได้นั้น มิใช่ความชนะเด็ดขาด (ส่วน) ความชนะที่บุคคลชนะแล้ว
          ไม่กลับแพ้นั้น ต่างหาก จึงชื่อว่า เป็นความชนะเด็ดขาด ” ดังนี้.        

          บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น ตํ ชิตํ สาธุ ชิตํ ยํ ชิตํ อวชิยฺยติ ความว่า การปราบปรามปัจจามิตรราบคาบ       
          ชนะแว่นแคว้น ตีเอาได้แล้ว ปัจจามิตรเหล่านั้นยังจะตีกลับคืนได้ ความชนะนั้นจะชื่อว่า เป็นความชนะเด็ดขาด หาได้ไม่.  
          เพราะเหตุไร? เพราะ ยังจะต้องชิงชัยกันบ่อยๆ.        

          อีกนัยหนึ่ง ชัยเรียกได้ว่า ความชนะ ชัยที่ได้เพราะรบกับปัจจามิตร ต่อมา เมื่อปัจจามิตรเอาชนะคืนได้ ก็กลับเป็นปราชัย ชัยนั้นไม่ดีไม่งาม.      
          เพราะเหตุไร? เพราะเหตุที่ ยังกลับเป็นปราชัยได้อีก.  

          บทว่า ตํ โข ชิตํ สาธุ ชิตํ ยํ ชิตํ นาวชิยฺยติ ความว่า ส่วนการครอบงำมวลปัจจามิตรไว้ได้แล้ว ชนะปัจจามิตรเหล่านั้น        
          จะกลับชิงชัยไม่ได้อีก ใดๆ ก็ดี การได้ชัยชนะครั้งเดียว แล้วไม่กลับเป็นปราชัยไปได้ ใดๆ ก็ดี ความชนะนั้นๆ เป็นความชนะเด็ดขาด     
          คือชัยชนะนั้นชื่อว่าดี ชื่อว่างาม. เพราะเหตุไร? เพราะเหตุที่ ไม่ต้องชิงชัยกันอีก.       

          ดูก่อนมหาบพิตร เพราะเหตุนั้น แม้พระองค์จะทรงชนะขุนสงคราม ตั้งพันครั้ง ตั้งแสนครั้ง ก็ยังจะเฉลิมพระนามว่า จอมทัพ หาได้ไม่.  
          เพราะเหตุใด ? เพราะเหตุที่พระองค์ยังทรงชนะกิเลสของพระองค์เองไม่ได้ ส่วนบุคคลใด ชนะกิเลสภายในของตนได้ แม้เพียงครั้งเดียว   
          บุคคลนี้จัดเป็นจอมทัพผู้เกรียงไกรได้. 

          พระโพธิสัตว์นั่งในอากาศ นั่นแล แสดงธรรมถวายพระราชา ด้วยพระพุทธลีลา.
ก็ในความเป็นจอมทัพผู้สูงสุดนั้น มีพระสูตรเป็นเครื่องสาธก ดังนี้ :-    

          “ ผู้ที่ชนะหมู่มนุษย์ในสงคราม ถึงหนึ่งล้านคน ยังสู้ผู้ที่ชนะตน เพียงผู้เดียวไม่ได้ ผู้นั้นเป็นจอมทัพสูงสุด โดยแท้ ” ดังนี้.....      

อ้างอิง  
อรรถกถา กุททาลชาดก "ว่าด้วย ความชนะที่ดี"     
http://84000.org/tipitaka/atita100/jataka.php?i=270070

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น