วันเสาร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2557



มิตรดีกับการเจริญอริยมรรค       
          การมีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี และผู้ปฏิบัติมีความเพียรอย่างดี ก็จะพากันขวนขวาย ชักชวนกันในการปฏิบัติ ซึ่งก็จะเป็นหนทางแห่งการเจริญอริยมรรคได้ ในปัจจุบันมิตรดีที่สุดก็ยังมีอยู่ มิตรนั้นก็คือ คำสอนของพระพุทธเจ้าที่มีอยู่ในพระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม คำสอนนั้น ๆ เมื่อได้ศึกษา และปฏิบัติตามก็เป็นหนทางสู่ความดับทุกข์ได้    

อริยมรรคมีเฉพาะในพระพุทธศาสนาเท่านั้น     
          คำสอนเรื่องการพ้นทุกข์ ออกไปจากทุกข์ ออกไปจากการเวียนตายเวียนเกิด ออกไปจากสงสารวัฏ ออกไปจากวัฏฏะ มีอยู่เพียงในพระพุทธศาสนานี้เท่านั้น  
          มรรคมีองค์ ๘ เป็นหนทาง เป็นเส้นทางไปสู่ความดับทั้งหลาย           
          ฉะนั้น เมื่อเราเป็นชาวพุทธได้พบพระพุทธศาสนา เป็นผู้สนใจในคาสอนของพระพุทธองค์ จงรีบขวนขวายในการศึกษาเล่าเรียนหลักคาสอนจากพระไตรปิฎก รีบขวนขวายปฏิบัติธรรม     
          แม้ชีวิตปุถุชนอย่างเรา ๆ จะเต็มไปด้วยหนทางแห่งกิเลส แต่ถ้าเรายึดหลักข้อรักษากาย ประคองใจ ที่กล่าวไว้แล้วในโพธิปักขิยธรรมนี้ จะเป็นหนทางไปสู่เส้นทางสายนิพพานได้         


ธรรมที่เป็นอุปการะมากเพื่อความเกิดขึ้นแห่งอริยมรรค      
          ธรรมที่เป็นอุปการะแก่อริยมรรค ได้แก่         
          ๑. กัลยาณมิตร ความเป็นผู้มีมิตรดี ดังที่ได้กล่าวแล้วในข้อมิตรดี       
          ๒. ศีล ความเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล เพราะว่าศีลเป็นบาทฐานแห่งสมาธิและปัญญา ศีลนั้นจะรักษากาย วาจาของผู้ปฏิบัติให้บริสุทธิ์ ก็เป็นเหตุให้จิตใจเบาสบายเหมาะแก่การประพฤติธรรม       ๓. ฉันทะ ความเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยฉันทะ คือการเป็นผู้มีความพอใจ ชอบใจ มุ่งหมาย ในเรื่องการเจริญมรรค     
          ๔. มีตนถึงพร้อม ไม่บกพร่องเรื่องสุขภาพร่างกาย เมื่อกายพร้อมไม่เจ็บป่วยก็จะไม่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรม         
          ๕. มีความเห็นถูกต้อง การมีความเห็นถูกเป็นหนทางให้ถึงพระนิพพาน เพราะเมื่อมีความเห็นถูก การปฏิบัติก็จะปฏิบัติได้ถูกทาง ถ้ามีความเห็นผิดเสียแล้ว ก็อย่าหวังความ สำเร็จในเรื่องการปฏิบัติธรรม เพราะเมื่อมีความเห็นผิดการปฏิบัติก็ผิดทาง ทาให้กลายเป็นมิจฉามรรค ความเห็นผิดอย่างนี้จะพาไปสู่นรกได้      
          ๖. ไม่ประมาท คือ ไม่ประมาทในวัยว่ายังเด็กอยู่ ยังหนุ่มยังสาวอยู่ หรือประมาทโดยการผัดวัน ประกันพรุ่งอยู่เรื่อยไปไม่เร่งขวนขวายในการปฏิบัติ  


อ้างอิง  
บทเรียนพระอภิธรรมทางไปรษณีย์ ชุดที่ ๘ ตอนที่ ๓ หมวดที่ ๓ โพธิปักขิยสังคหะ       
เรียบเรียงโดย อาจารย์ทองสุข ทองกระจ่าง
อภิธรรมโชติกะวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
 

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น