วันเสาร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2557



ธุดงค์ ๑๓ (องค์คุณเครื่องสลัดหรือกำจัดกิเลส, ข้อปฏิบัติประเภทวัตรที่ผู้สมัครใจจะพึงสมาทานประพฤติได้ เพื่อเป็นอุบายขัดเกลากิเลส ช่วยส่งเสริมด้วยมักน้อยและสันโดษเป็นต้น)

หมวดที่ ๑ จีวรปฏิสังยุต (เกี่ยวกับจีวร)  
     ๑. ปังสุกูลิกังคะ (องค์แห่งผู้ถือทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร คำสมาทานโดยอธิษฐานใจหรือเปล่งวาจาว่า "คหปติจีวรํ ปฏิกฺขิปามิ, ปํสุกูลิกงฺคํ สมาทิยามิ" แปลว่า "เรางดคฤหบดีจีวร สมาทานองค์แห่งผู้…")        
     ๒. เตจีวริกังคะ (องค์แห่งผู้ถือทรงเพียงไตรจีวรเป็นวัตร คำสมาทานว่า "จตุตฺถ จีวรํ ปฏิกฺขิปามิ, เตจีวริกงฺคํ สมาทิยามิ" แปลว่า "ข้าพเจ้างดจีวรผืนที่ ๔ สมาทานองค์แห่งผู้…")

หมวดที่ ๒ ปิณฑปาตปฏิสังยุต (เกี่ยวกับบิณฑบาต)     
    ๓. ปิณฑปาติกังคะ (องค์แห่งผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร คำสมาทานว่า "อติเรกลาภํ ปฏิกฺขิปามิ ปิณฺฑปาติกงฺคํ สมาทิยามิ" แปลว่า "ข้าพเจ้างดอติเรกลาภ สมาทานองค์แห่งผู้…")   
    ๔. สปทานจาริกังคะ (องค์แห่งผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับเป็นวัตร คำสมาทานว่า "โลลุปฺปจารํ ปฏิกฺขิปามิ, สปทานจาริกงฺคํ สมาทิยามิ" แปลว่า "ข้าพเจ้างดการเที่ยวตามใจอยาก สมาทานองค์แห่งผู้ …")   
    ๕. เอกาสนิกังคะ (องค์แห่งผู้ถือนั่งฉัน ณ อาสนะเดียวเป็นวัตร คือฉันวันละมื้อเดียว ลุกจากที่แล้วไม่ฉันอีก คำสมาทานว่า "นานาสนโภชนํ ปฏิกฺขิปามิ, เอกาสนิกงฺคํ สมาทิยามิ" แปลว่า "ข้าพเจ้างดเว้นการฉัน ณ ต่างอาสนะ สมาทานองค์แห่งผู้…")  
    ๖. ปัตตปิณฑิกังคะ (องค์แห่งผู้ถือฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร คือ ไม่ใช้ภาชนะใส่อาหารเกิน ๑ อย่างคือบาตร คำสมาทานว่า "ทุติยภาชนํ ปฏิกฺขิปามิ, ปตฺตปิณฺฑิกงฺคํ สมาทิยามิ" แปลว่า "ข้าพเจ้างดภาชนะที่สอง สมาทานองค์แห่งผู้…")         
    ๗. ขลุปัจฉาภัตติกังคะ (องค์แห่งผู้ถือห้ามภัตที่ถวายภายหลังเป็นวัตร คือเมื่อได้ปลงใจกำหนดอาหารที่เป็นส่วนของตน ซึ่งเรียกว่าห้ามภัต ด้วยการลงมือฉัน เป็นต้นแล้ว ไม่รับอาหารที่เขานำมาถวายอีก แม้จะเป็นของประณีต คำสมาทานว่า "อติริตฺตโภชนํ ปฏิกฺขิปามิ, ขลุปจฺฉาภตฺติกงฺคํ สมาทิยามิ" แปลว่า "ข้าพเจ้างดโภชนะอันเหลือเฟือ สมาทานองค์แห่งผู้…")         

หมวดที่ ๓ เสนาสนปฏิสังยุต (เกี่ยวกับเสนาสนะ)       
    ๘. อารัญญิกังคะ (องค์แห่งผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร อยู่ห่างบ้านคนอย่างน้อย ๕๐๐ ชั่วธนู คือ ๒๕ เส้น คำสมาทานว่า "คามนฺตเสนาสนํ ปฏิกฺขิปามิ, อารญฺญิกงฺคํ สมาทิยามิ" แปลว่า "ข้าพเจ้างดเสนาสนะชายบ้าน สมาทานองค์แห่งผู้…") 
    ๙. รุกขมูลิกังคะ (องค์แห่งผู้ถืออยู่โคนไม้เป็นวัตร คำสมาทานว่า "ฉนฺนํ ปฏิกฺขิปามิ, รุกฺขมูลิกงฺคํ สมาทิยามิ" แปลว่า "ข้าพเจ้างดที่มุงบัง สมาทานองค์แห่งผู้…")     
    ๑๐. อัพโภกาลิกังคะ (องค์แห่งผู้ถืออยู่ที่แจ้งเป็นวัตร คำสมาทานว่า "ฉนฺนญฺจ รุกฺขมูลญฺจ ปฏิกฺขิปามิ, อพฺโภกาสิกงฺคํ สมาทิยามิ" แปลว่า "ข้าพเจ้างดที่มุงบังและโคนไม้ สมาทานองค์แห่งผู้…")     
     ๑๑. โสสานิกังคะ (องค์แห่งผู้ถืออยู่ป่าช้าเป็นวัตร คำสมาทานว่า "อสุสานํ ปฏิกฺขิปามิ, โสสานิกงฺคํ สมาทิยามิ" แปลว่า "ข้าพเจ้างดที่มิใช่ป่าช้า สมาทานองค์แห่งผู้…")
    ๑๒. ยถาสันถติกังคะ (องค์แห่งผู้ถืออยู่ในเสนาสนะแล้วแต่เขาจัดให้ คำสมาทานว่า "เสนาสนโลลุปฺปํ ปฏิกฺขิปามิ, ยถาสนฺถติกงฺคํ สมาทิยามิ" แปลว่า "ข้าพเจ้างดความอยากเอาแต่ใจในเสนาสนะ สมาทานองค์แห่งผู้…")       

หมวดที่ ๔ วิริยปฏิสังยุต (เกี่ยวกับความเพียร)  
     ๑๓. เนสัชชิกังคะ (องค์แห่งผู้ถือการนั่งเป็นวัตร คือเว้นนอน อยู่ด้วยเพียง ๓ อิริยาบถ คำสมาทานว่า "เสยฺยํ ปฏิกฺขิปามิ, เนสชฺชิกงฺคํ สมาทิยามิ" แปลว่า "ข้าพเจ้างดการนอน สมาทานองค์แห่งผู้…") 





ข้อควรทราบเพิ่มเติมเกี่ยวกับธุดงค์ ๑๓ 

ก. โดยย่อธุดงค์มี ๘ ข้อ เท่านั้น คือ        
    ๑) องค์หลัก ๓ (สีสังคะ) คือ สปทานจาริกังคะ (เท่ากับได้รักษาปิณฑปาติกังคะด้วย) เอกาสนิกังคะ (เท่ากับได้รักษาปัตตปิณฑิกังคะ และขลุปัจฉาภัตติกังคะด้วย) และอัพโภกาสิกังคะ (ทำให้รุกขมูลิกังคะ กับ ยถาสันติกังคะ หมดความจำเป็น )
     ๒) องค์เดี่ยวไม่คาบเกี่ยวข้ออื่น ๕ (อสัมภินนังคะ) คือ อารัญญิกังคะ ปังสุกุลิกังคะ เตจีวริกังคะ เนสัชชิกังคะ และโสสานิกังคะ

ข. โดยนิสสัยคือที่อาศัย  มี ๒ คือ ปัจจัยนิสิต ๑๒ (อาศัยปัจจัย) กับ วิริยนิสิต ๑ (อาศัยความเพียร)      

ค. โดยบุคคลผู้ถือ   
     ๑) ภิกษุ ถือได้ทั้ง ๑๓ ข้อ 
     ๒) ภิกษุณี ถือได้ ๘ ข้อ (คือ ข้อ ๑-๒-๓-๔-๕-๖-๑๒-๑๓) 
     ๓) สามเณร ถือได้ ๑๒ ข้อ (คือ เว้นข้อ ๒ เตจีวรกังคะ)    
     ๔) สิกขมานาและสามเณรี ถือได้ ๗ ข้อ (คือ ลดข้อ ๒ ออกจากที่ภิกษุณีถือได้)     
     ๕) อุบาสกอุบาสิกา ถือได้ ๒ ข้อ (คือ ข้อ ๕ และ ๖)        

ง. โดยระดับการถือ แต่ละข้อถือได้ ๓ ระดับ คือ        
     ๑) อย่างอุกฤษฏ์ หรืออย่างเคร่ง เช่น ผู้ถืออยู่ป่า ต้องให้ได้อรุณในป่าตลอดไป      
     ๒) อย่างมัธยม หรืออย่างกลาง เช่น ผู้ถืออยู่ป่า อยู่ในเสนาสนะชายบ้าน ตลอดฤดูฝน ๔ เดือน ที่เหลืออยู่ป่า       
     ๓) อย่างอ่อน หรืออย่างเพลา เช่น ผู้ถืออยู่ป่า อยู่ในเสนาสนะชายบ้านตลอดฤดูฝนและหนาวรวม ๘ เดือน         

จ. ข้อ ๙ และ ๑๐ คือ รุกขมูลิกังคะ และอัพโภกาสิกังคะ ถือได้เฉพาะนอกพรรษา เพราะวินัยกำหนดให้ต้องถือเสนาสนะในพรรษา        

ฉ. ธุดงค์ไม่ใช่บทบัญญัติทางวินัย ขึ้นกับความสมัครใจ มีหลักทั่วไปในการถือว่า    
    ถ้าถือแล้วช่วยให้กรรมฐานเจริญ หรือช่วยให้กุศลธรรมเจริญ อกุศลธรรมเสื่อมควรถือ      
    ถ้าถือแล้วทำให้กรรมฐานเสื่อม หรือทำให้กุศลธรรมเสื่อม อกุศลธรรมเจริญ ไม่ควรถือ      
    ส่วนผู้ที่ถือหรือไม่ถือ ก็ไม่ทำให้กรรมฐานเจริญหรือเสื่อม เช่น เป็นพระอรหันต์แล้วอย่างพระมหากัสสปะ เป็นต้น หรือคนอื่นๆก็ตาม ควรถือได้        
    ฝ่ายแรกควรถือในเมื่อคิดจะอนุเคราะห์ชุมชนในภายหลัง ฝ่ายหลังเพื่อเป็นวาสนาต่อไป    

ช. ธุดงค์ที่มาในบาลีเดิม ไม่พบครบจำนวนในที่เดียว    
    (ที่พบจำนวนมาก คือ ม.อุ.๑๔/๑๘๖/๑๓๘ มีข้อ ๑-๓-๕-๘-๙-๑๐-๑๑-๑๒-๑๓;   
    องฺ.ทสก.๒๔/๑๘๑/๒๔๕  มีข้อ ๑-๕-๖-๗-๘-๙-๑๐-๑๑-๑๒-๑๓;           
    ขุ.ม.๒๙/๙๑๘/๕๘๔ มีข้อ ๑-๒-๓-๔-๗-๘-๑๒-๑๓)                  
    นอกจากคัมภีร์บริวาร (วินย.๘/๙๘๒/๓๓๐; ๑๑๙๒/๔๗๕) ซึ่งมีหัวข้อครบถ้วน             
    ส่วนคำอธิบายทั้งหมดพึงดูในคัมภีร์วิสุทธิมรรค.     


อ้างอิง   
วิสุทฺธิ.๑/๗๓-๑๐๔.               
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต            )

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น