วันศุกร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2557



พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมกับคนไถนา คนไถนาเขาต่อว่าพระสมณโคดมว่า ไม่เห็นทำมาหากิน ทำไร่ไถนาอะไร เที่ยวบิณฑบาตขอเขาอยู่เรื่อยไป พระองค์เมื่อได้ยินชายไถนากล่าวต่อว่าดังนั้น จึงทรงแสดงธรรมโปรดชายไถนาว่า
          เราก็ทำนาเหมือนกัน มีอมตะเป็นผล คือ มีความไม่ตายนี้เป็นข้าวเปลือกเป็นผล        
          เรามีขันติเป็นงอนไถ   มี สติเป็นเหมือนเชือก  มีผาลเป็นปัญญาที่ จะไถพลิกความโง่ออกจากจิตใจ พระองค์ทรงแสดงธรรมโปรดสั้น ๆ
          ครั้นปรากฏว่าพอแสดงธรรมไปแล้ว พราหมณ์ผู้ทำนานี้เกิดเลื่อมใสศรัทธา
เพราะว่าไอ้คันไถอย่างนั้น เชือกอย่างนั้น มันหายากเหมือนกันนะ ผาลไถนี่เราก็ทำกันได้
เดี๋ยวนี้ใช้เครื่องผาลไถพลิกกลับดินให้งอกงาม ทำให้ต้นไม้ขึ้นดี
          แต่ว่าพระองค์นั้นทรงใช้ปัญญา         
         
พระผู้มีพระภาคทรงไปโปรดพราหมณ์ผู้ทำนา ปรากฏว่าพราหมณ์ก็ได้พูดกับพระพุทธเจ้าว่า  “ท่านจะทำนาบ้างไม่ได้หรือไง ผู้ที่ทำนาก็ย่อมได้ข้าวกิน เมื่อไม่ได้ทำนาก็ไม่ควรจะกิน”
พูดตามภาษาบ้านเราก็ว่าอย่างนั้นเถอะ        
          ปรากฏว่า พระองค์ก็บอกว่าเราก็ทำนาเหมือนกัน      
          ชาวนาผู้เป็นพราหมณ์ก็ถามว่า  “เอ้า ไหนล่ะเครื่องมือในการทำนาไม่เห็นมีอะไร มีแต่บาตรลูกเดียวจะทำได้อย่างไร”       
          พระองค์ก็ทรงตอบว่า “เรามีศรัทธาเป็นเสมือนพืชเป็นเหมือนเมล็ดที่จะเพาะปลูกงอกงามเป็นผล เรามีปัญญาเป็นเหมือนแอกและไถ มีหิริเป็นงอนไถ ใจเป็นเชือกชัก สติของเราเป็นผาลและปฏัก
เรามีกายคุ้มครอง ดีแล้ว มีทวารมีวาจาอันคุ้มครองดีแล้ว เป็นผู้สำรวมแล้วในการบริโภคอาหาร       
     เราทำการ ดายหญ้าด้วยคำสัตย์ โสรัจจะของเราเป็นเครื่องให้เสร็จงาน ความเพียรของเราเป็นเครื่องนำธุระไปให้สมหวัง นำไปถึงความเกษมจากโยคะ คือ ปราศจากเครื่องผูกพันนั้น ไปไม่ถอยหลังยังที่ซึ่งบุคคลไปแล้วไม่ต้องโศก มีอมตะเป็นผล
          นี้คือ การทำนาของเรา บุคคลทำนาอย่างนี้แล้ว ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้เหมือนท่านต้องการข้าวไปแก้หิว เรานั้นก็มีคุณธรรมดังที่ได้กล่าวนี้เป็นเครื่องให้พ้นทุกข์ด้วยเช่นกัน



กสิภารทวาชสูตรที่ ๔

          [๒๙๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พราหมณคามชื่อเอกนาฬาในทักขิณาคิรีชนบท แคว้นมคธ ก็สมัยนั้นแล กสิภารทวาชพราหมณ์ประกอบไถประมาณ ๕๐๐ ในเวลาเป็นที่หว่านพืช  
          ครั้งนั้นแล เป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปยังที่การงานของกสิภารทวาชพราหมณ์ ก็สมัยนั้นแล การเลี้ยงดูของกสิภารทวาชพราหมณ์กำลังเป็นไป        
          ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปถึงที่เลี้ยงดู ครั้นแล้วได้ประทับยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง  
          กสิภารทวาชพราหมณ์ได้เห็นพระผู้มีพระภาคประทับยืนอยู่ เพื่อบิณฑบาต ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า     
          ข้าแต่พระสมณะ ข้าพระองค์แล ย่อมไถและหว่าน ครั้นไถและหว่านแล้วย่อมบริโภค แม้พระองค์ก็จงไถและหว่าน ครั้นไถและหว่านแล้วจงบริโภคเถิด    
     
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า         
          ดูกรพราหมณ์ แม้เราก็ไถและหว่าน ครั้นไถและหว่านแล้วย่อมบริโภค ฯ       
          กสิ. ข้าแต่พระสมณะ ก็ข้าพระองค์ย่อมไม่เห็นแอก ไถ ผาล ปฏักหรือโคของท่านพระโคดมเลย ก็แลเมื่อเป็นเช่นนี้         
          ท่านพระโคดมตรัสอย่างนี้ว่า ดูกรพราหมณ์ แม้เราก็ไถและหว่าน ครั้นไถและหว่านแล้วย่อมบริโภค 
          ลำดับนั้น กสิภารทวาชพราหมณ์ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า       
          [๒๙๘]    พระองค์ย่อมปฏิญาณว่าเป็นชาวนา แต่ข้าพระองค์ไม่เห็นไถของพระองค์ พระองค์อันข้าพระองค์ทูลถามแล้ว ขอได้โปรดตรัสบอกไถแก่ข้าพระองค์ โดยวิธีที่ข้าพระองค์จะพึงรู้จักไถของพระองค์ ฯ         

          พระผู้มีพระภาคตรัสตอบด้วยพระคาถาว่า       
          ศรัทธาของเราเป็นพืช 
          ความเพียรของเราเป็นฝน      
          ปัญญาของเราเป็นแอกและไถ 
          หิริของเราเป็นงอนไถ  
          ใจของเราเป็นเชือก    
          สติของเราเป็นผาลและปฏัก   

     เราคุ้มครองกายคุ้มครองวาจา สำรวมในอาหารในท้อง ย่อมกระทำการถอนหญ้า คือ      
     การกล่าวให้พลาดด้วยสัจจะ ความสงบเสงี่ยมของเราเป็นเครื่องปลดเปลื้องกิเลส  
     ความเพียรของเรานำธุระไปเพื่อธุระนำไปถึงแดนเกษมจากโยคะ 
     ไม่หวนกลับมาย่อมถึงสถานที่ๆ บุคคลไปแล้วไม่เศร้าโศก  
     การไถนานั้นเราไถแล้วอย่างนี้ การไถนานั้น ย่อมมีผลเป็นอมตะ   
     บุคคลไถนานั่นแล้ว ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ฯ

อ้างอิง
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕  บรรทัดที่ ๗๑๐๒ - ๗๑๗๖.  หน้าที่  ๓๑๑ - ๓๑๔.
http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=25&A=7102&Z=7176&pagebreak=0
ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=297


Next
บทความใหม่กว่า
Previous
This is the last post.

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น